Hello everybody!

Hello everybody!

จังหวัดบุรีรัมย์

          
          เมืองบุรีรัมย์ มีลักษณะค่อนข้างแตกต่างจากเมืองโบราณทั่วไปของไทย เนื่องจากตัวเมืองบุรีรัมย์ปัจจุบันมิได้เป็นเมืองใหญ่ที่เป็นศูนย์ รวมของเมืองน้อยต่าง ๆ เช่นกรณี เมืองอุบลราชธานี หรือเมืองนครราชสีมา แต่เป็นการรวมตัวของเมืองเล็กๆ ที่มีลักษณะเท่าเทียมกันหลายเมืองผนวกเขาเป็นเมืองเดียว กัน แล้วพัฒนาเป็นจังหวัดบุรีรัมย์ดังทุกวันนี้ โดยสืบทอดมาจากความเป็นอยู่ของประชาชนในท้องถิ่นดินแดนอันเป็นที่ตั้งจังหวัดบุรีรัมย์มีเมืองและชุมชนโบราณอยู่เป็นจำนวนมาก ดังปรากฏร่องรอยของคันดิน และคูเมืองเกินกว่า 140 แห่ง ลักษณะของเมืองเหล่านั้นเป็นรูปทรงกลมเกือบทั้งสิ้น มีคูน้ำคันดินล้อมรอบถึง 3 ชั้น พร้อมกับพบหลักฐานพระพุทธรูปสมัยทวารวดี เครื่องปั้นดินเผา เครื่องมือเครื่องใช้ นอกจากนี้หลักฐานทางด้านสถาปัตยกรรม อาทิ ปราสาทหินเขาพนมรุ้ง ปราสาทเมืองต่ำ รวมถึงศิลาจารึกซึ่งพบที่พนมรุ้ง
พื้นที่ตั้งของบุรีรัมย์เคยเป็นที่ตั้งของอาณาจักรที่รุ่งเรืองมาแต่ครั้งสมัยทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ 12-16) เชื่อมต่อจนถึงสมัยลพบุรี (พุทธศตวรรษที่ 12-18) มีกษัตริย์ที่มีอำนาจปกครองเป็นอิสระ มีประชาชนอยู่กันค่อนข้างหนาแน่น จนสามารถเกณฑ์แรงงานสร้างศาสนสถานที่ยิ่งใหญ่ได้ ต่อมาเมืองต่างๆดังกล่าวคงเริ่มเสื่อมอำนาจลง และแตกแยกด้วยเหตุจากภัยธรรมชาติหรือสงคราม จึงได้ร้างไป ประชาชนจำนวนหนึ่ง ที่รอดพ้นจากภัยได้กระจายตัวหลบตามป่าชายแดนตั้งเป็นชุมชนเล็กๆ เรียกว่าเขมรป่าแดง

สถานที่สำคัญ-แหล่งท่องเที่ยว

อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง
         ปราสาทหินพนมรุ้งเป็นเทวสถานในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย มีการบูรณะก่อสร้างต่อเนื่องกันมาหลายสมัย ตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่ 15 ถึงพุทธศตวรรษที่ 17 และในพุทธศตวรรษที่ 18 พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งอาณาจักรขอมได้หันมานับถือพุทธศาสนาลัทธิมหายาน เทวสถานแห่งนี้จึงได้รับการดัดแปลงเป็นศาสนสถานในพุทธศาสนาในช่วงนั้น ประกอบด้วยอาคารและสิ่งก่อสร้างต่างๆ ที่ตั้งเรียงรายขึ้นไปจากลาดเขาทางขึ้นจนถึงปรางค์ประธานบนยอดอันเปรียบเสมือนวิมานที่ประทับของพระศิวะ บันไดทางขึ้นช่วงแรกทำเป็นตระพัง (สระน้ำ) สามชั้นผ่านขึ้นมาสู่พลับพลาชั้นแรก จากนั้นเป็นทางเดินซึ่งมีเสานางเรียงปักอยู่ที่ขอบทางทั้งสองข้างเป็นระยะๆ ถนนทางเดินนี้ ทอดไปสู่สะพานนาคราช ซึ่งเปรียบเสมือนจุดเชื่อมต่อระหว่างดินแดนแห่งมนุษย์และสรวงสวรรค์ ด้านข้างของทางเดินทางทิศเหนือมีพลับพลาสร้างด้วยศิลาแลง 1 หลัง เรียกกันว่า โรงช้างเผือก สุดสะพานนาคราชเป็นบันไดทางขึ้นสู่ปราสาท ซึ่งทำเป็นชานพักเป็นระยะๆ รวม 5 ชั้น สุดบันไดเป็นชานชลาโล่งกว้าง ซึ่งมีทางนำไปสู่สะพานนาคราชหน้าประตูกลางของระเบียงคด อันเป็นเส้นทางหลักที่จะผ่านเข้าสู่ลานชั้นในของปราสาท และจากประตูนี้ยังมีสะพานนาคราชรับอยู่อีกช่วงหนึ่งก่อนถึงปรางค์ประธาน

วัดเขาอังคาร
           ตั้งอยู่บนเขาอังคารซึ่งเป็นภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว อยู่ห่างจากปราสาทหินพนมรุ้งไปอีกประมาณ 20 กิโลเมตร ภายในบริเวณวัดเคยมีการค้นพบโบราณสถานเก่าแก่และใบเสมาหินทรายสมัยทวารวดีหลายชิ้น ปัจจุบันเป็นวัดที่สวยงามใหญ่โตแห่งหนึ่งของบุรีรัมย์ มีการก่อสร้างโบสถ์ ศาลาและอาคารต่าง ๆ เลียนแบบสถาปัตยกรรมสมัยต่างๆ หลายรูปแบบ มีภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องราวพุทธชาดก
อ่างเก็บน้ำทุ่งแหลม
เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก ซึ่งได้รับการปรับปรุงให้เป็นจุดแวะพักริมทาง มีศาลาริมน้ำ ในฤดูแล้งมีฝูงนกเป็ดน้ำจำนวนมากมายอาศัยอยู่ที่อ่างเก็บน้ำแห่งนี้

ปราสาทหินเมืองต่ำ
        เป็นปราสาทขอมที่มีสถาปัตยกรรมสวยงามโดดเด่นน่าชมอีกแห่งหนึ่งของบุรีรัมย์ ตัวปราสาท ประกอบด้วยสิ่งก่อสร้างหลักคือ ปรางค์อิฐ 5 องค์ สร้างอยู่บนฐานเดียวกัน ก่อด้วยศิลาแลง องค์ปรางค์ทั้ง 5 ตั้งเรียงกันเป็น 2 แถว แถวหน้า 3 องค์ แถวหลัง 2 องค์ ปรางค์ประธานซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดตั้งอยู่ตรงกลางแถวหน้า ปัจจุบันคงเหลืออยู่เพียงส่วนฐาน ส่วนองค์อื่นๆ ที่เหลืออยู่ก็มีสภาพที่ไม่สมบูรณ์
เขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่างเก็บน้ำสนามบิน
เป็นจุดที่เหมาะแก่การดูนกน้ำ โดยเฉพาะในช่วงเดือนพฤศจิกายน - เมษายน มีสำนักงานเขตห้ามล่าสัตว์ป่าฯ อยู่ด้านซ้ายมือริมถนน

แหล่งตัดหิน
          ตั้งอยู่ในเขตอำเภอบ้านกรวด ติดแนวชายแดนไทย-กัมพูชา เป็นแหล่งหินทรายที่คนสมัยขอม ตัดหินเอาไปสร้างปราสาทต่างๆ ในเขตอีสานใต้ อยู่บริเวณเขากลอยและเขากระเจียว หินบางก้อนปรากฏรอยตอกเนื้อหินให้เป็นรูเรียงกันเป็นแนวยาว หินบางก้อนถูกเซาะสกัดเป็นร่องขาดจากกัน และยังมีหินที่ถูกตัดและงัดขึ้นมาเป็นแท่งสี่เหลี่ยมอยู่ทั่วไป
ศูนย์วัฒนธรรมอีสานใต้
เป็นสถานที่รวบรวมจัดแสดงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุอันมีค่าทางประวัติศาสตร์ โบราณคดีและวัฒนธรรมท้องถิ่น เป็นแหล่งข้อมูลเพื่อการค้นคว้าวิจัย จัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับช้าง ชาวส่วย ผ้าพื้นเมือง จิตรกรรมฝาผนัง เครื่องถ้วยและเตาเผาโบราณ วิถีชีวิตชาวอีสาน

พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
          ตั้งอยู่ในตัวเมืองทางไปอำเภอประโคนชัย เพื่อเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ 1 ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ผู้ทรงก่อตั้งเมืองบุรีรัมย์ เมื่อครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระยามหากษัตริย์ศึก

วนอุทยานเขากระโดง
          เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจและเป็นที่ตั้งของภูเขาไฟโบราณซึ่งยังคงปรากฏร่องรอยปากปล่องให้เห็นได้ชัดเจน ปากปล่องภูเขาไฟมีลักษณะเป็นแอ่งน้ำลึก มีน้ำขังตลอดปี เป็นที่ประดิษฐานพระสุภัทรบพิตร พระพุทธรูปองค์ใหญ่คู่เมืองบุรีรัมย์และมีปรางค์กู่โบราณ ภายในประดิษฐานพระพุทธบาทจำลอง วนอุทยานนี้มีพันธุ์ไม้พื้นเมืองน่าศึกษาหลายชนิด

อ่างเก็บน้ำห้วยตลาดและสวนนกบุรีรัมย์
         จากการสำรวจพบว่าในแต่ละปีมีนกชนิดต่าง ๆ มาอาศัยอยู่โดยรอบจำนวนกว่า 100 ชนิด โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน-เมษายนจะมีฝูงนกมาอาศัยอยู่มากเป็นพิเศษ บางชนิดใกล้สูญพันธุ์และหาดูได้ยาก เช่น นกเป็ดหงส์ นกเป็ดก่า และนกกาบบัว

แหล่งเตาโบราณ
          ในบริเวณอำเภอบ้านกรวด นักโบราณคดีได้สำรวจพบเตาเผา และเครื่องปั้นดินเผาโบราณจำนวนมาก เตาโบราณเหล่านี้มีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 14-19 เป็นแหล่งผลิตเครื่องถ้วยขอม เพื่อเป็นสินค้าป้อนให้กับเมืองต่างๆ โดยมีการทำเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และขยายขอบเขตการผลิตไปยังพื้นที่ใกล้เคียง

ปราสาทวัดโคกงิ้ว
            เป็นโบราณสถานสมัยขอม ด้านหลังวัดโคกงิ้ว เป็นอโรคยาศาลหรือโรงพยาบาลที่สร้างขึ้นตามพระราชดำริของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 ตามคติในพุทธศาสนาลัทธิมหายาน

อนุสาวรีย์เราสู้
         อยู่ที่อำเภอโนนดินแดงสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2522 เพื่อรำลึกถึงวีรกรรมของประชาชน ตำรวจ ทหาร ที่เสียชีวิตจากการต่อสู้ผู้ก่อการร้าย ที่ขัดขวางการสร้างเส้นทางยุทธศาสตร์สายนี้

เขื่อนลำนางรอง
         เป็นพื้นที่โครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคงตามพระราชดำริ เขื่อนลำนางรองเป็นเขื่อนดิน ได้รับการปรับปรุงเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ

ปราสาทหนองหงส์
          เป็นโบราณสถานขนาดเล็กประกอบด้วยปรางค์ 3 องค์ ก่อด้วยอิฐ ตั้งบนฐานก่อด้วยศิลาแลงต่อเนื่องเป็นฐานเดียวกัน ปรางค์ทั้งสามมีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุมไม้สิบสอง องค์กลางขนาดใหญ่กว่าสององค์ที่ขนาบข้าง แต่เดิมเคยมีทับหลังประดับจำหลักลายอย่างสวยงาม ด้านหน้าของปรางค์องค์กลาง มีทางเดินยื่นยาวออกไป มีบันไดทางด้านหน้าและด้านข้างทั้งสอง มีวิหารหรือบรรณาลัยอีก 1 หลัง ก่อด้วยศิลาแลงหันหน้าเข้าหาปรางค์องค์ทิศใต้ อาคารทั้งหมดล้อมรอบด้วยกำแพงศิลาแลง มีซุ้มประตูด้านหน้าและด้านหลัง ศิลปะเขมรแบบบาปวน อายุราวพุทธศตวรรษที่ 16

หมูบ้านทอผ้าไหมอำเภอนาโพธิ์
          เป็นแหล่งทอผ้าไหมโดยเฉพาะผ้าไหมมัดหมี่ ได้รับความสนับสนุนช่วยเหลือในด้านการพัฒนาฝีมือให้ได้มาตรฐานทั้งรูปแบบ วิธีการผลิต ลวดลาย การให้สี จากศูนย์ศิลปาชีพพิเศษ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ